วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

คนดีในวิถีประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง

คนดีในวิถีประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง

โดย บุญโชค พลดาหาญ


จากปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงที่มีเป็นอย่างมากในอดีตที่ผ่านมา กกต.ชุดปัจจุบันมีความเห็นว่า ประชาชนระดับรากแก้วยังไม่เข้าใจว่า คนดีที่ควรเลือกไปเป็นผู้แทนของตนเพื่อบริหารบ้านเมืองนั้น ควรมีคุณลักษณะเช่นไร บางคนคิดว่าผู้ที่สัญญาว่าจะสร้างถนน สร้างโรงเรียน หรือฝากลูกหลานเข้าโรงเรียนได้เป็นคนดี จึงให้จัดทำหนังสือ “คนดีในวิถีประชาธิปไตย” ขึ้น เป็นนานาทัศนะที่น่าสนใจ ขอนำเสนอให้พิจารณาประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกใครเป็น ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 ดังนี้

“คนดีของฉันรึ จะต้องเป็นคนที่ไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ แต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดี ในขอบเขตของศีลธรรม” พระราโชวาทในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

“...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2512

“…คนที่ดี ก็คือคนที่ดีตามความรู้สึกของเราว่าดี ไม่เป็นโทษแก่ทั้งตัวเองและไม่เป็นโทษต่อส่วนรวม...
เมื่อจะเลือกคนที่ควรคบและคนที่อยู่ร่วมกัน ต้องตั้งหลักให้ดี คือ ต้องสอนตัวเองอยู่เสมอว่า ต้องมีสติ คอยควบคุมตัวเองให้ดี ถ้าสติเผลอเมื่อไหร่ก็จะเห็นคนไม่ดีว่าเป็นคนดี เห็นคนดีว่าเป็นคนไม่ดี...” ทัศนะของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

“...ผู้เลือกต้องตัดสินใจว่าที่เลือกนี้ เพื่อให้เขาไปทำหน้าที่นำความถูกต้องในสังคม เกิดความสุขขึ้นแก่สังคมและคนในชาติ คนที่จะไปเลือกจึงต้องนึกเสมอว่าเมื่อได้เลือกไปแล้ว คนที่เลือกไปจะไม่ทำความเจ็บใจ เสียใจ ท้อแท้ หรือเสียดายที่ได้ออกเสียง...” ทัศนะของนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี

“…อาสาสมัครจะมาเป็นผู้แทนของตนนั้น จะต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นคนดี มีคุณธรรม มีจริยธรรม รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมอันดีงามของปวงชนชาวไทย...ผู้แทนปวงชนนั้น จิตใจจะต้องมีเพียงประการเดียว คือ รักประชาชนและรับใช้ประชาชน เสียสละเพื่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ให้ละเว้นจากประโยชน์ส่วนตัว…” ทัศนะของพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู

“…ผู้นำที่ดีหรือคนดีในทัศนคติของศาสนาซิกข์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา มีความสันโดษ รู้จักเพียงพอในฐานะของตน มีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระธรรมแห่งศาสนาอย่างมั่นคง มีความกล้าหาญ มุ่งมั่นที่จะแก้ไขอุปสรรคโดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยวนภายนอก รับใช้ประชาชนโดยไม่หวังผลตอบแทน...” ทัศนะ
ของนายสุเทพ สุริยาอมฤทธิ์ นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา

“...การที่จะเลือกเขาได้ก็ต้องศึกษาเขาเสียก่อน ดังมีคำพูดสำคัญคือ รู้เขารู้เรา...สำหรับคนดีที่จะอาสาสมัครเข้ามาดูแลสังคมของเราก็จะต้องรู้ตนเองว่ามีความสามารถที่จะทำงานด้านนั้นได้หรือไม่...จะช่วยเหลือสังคมและเสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์ เพื่อจะให้สังคมต่อทอดยาวลงไปถึงลูกหลานได้” ทัศนะของพระราชครูวามเทพมุนี

“...คนดี ต้องเป็นคนที่ไม่ทำชั่ว ทั้งชั่วที่ผิดต่อกฎหมาย และชั่วที่ผิดต่อศีลธรรม ถ้ามีอะไรชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นคนไม่ดีแล้ว...การเป็นผู้แทนที่ดีนั้น ผมคิดว่าต้องเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ ไม่ทุจริตโกงกินเงินของชาติ
ไม่หวังประโยชน์จากการเข้ามามีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ...ผู้แทนจึงต้องมีความพอเพียง ไม่มีความโลภ และไม่ควรเข้าไป
เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางที่ผิด จนทำให้ประเทศชาติของเราเกิดความเสียหาย” ทัศนะของนายอภิชาต สุขัคคานนท์
ประธานกกต.

“คนดีในแง่ของการเลือกตั้งในความเห็นของผมนั้นควรจะมีลักษณะสำคัญคือ ประการแรก ต้องเป็นบุคคล
ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยไม่หวังผลตอบแทนอื่น ๆ ในการปฏิบัติงาน...ประการที่สอง ต้องเป็นบุคคล
ที่เคารพกฎหมาย ระเบียบ และกติกาของบ้านเมือง ในแง่ของการเลือกตั้งนั้น ถือว่ากฎหมายเลือกตั้งทุกระดับเป็นกติกาที่ใช้ในการแข่งขันของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เคารพกฎหมายเลือกตั้ง เช่น กฎหมายห้ามการซื้อเสียง แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งพยายามฝ่าฝืนกฎหมายเองด้วยวิธีการต่างๆ ประชาชนในฐานะผู้เลือกตั้งก็ไม่ควรพิจารณาผู้สมัครที่มีพฤติการณ์เช่นนั้น...ประการที่สาม ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ ซึ่งหมายถึงการรู้จักเสียสละ
โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว แต่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง บุคคลประเภทนี้หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนแล้ว ก็จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุข บ้านเมืองหรือประเทศชาติก็จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่” ทัศนะ
ของนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง

“...คนดีในสังคมไทย ควรมีลักษณะพื้นฐานอย่างน้อย 4 ประการ (4 ส.) ประกอบด้วย 1) มีความสุจริต เป็นที่ประจักษ์ 2) มีความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ 3) มีความเสียสละ ประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และ 4) มีความสามารถ รอบรู้ในกิจการที่ได้รับมอบหมาย...ต้องมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้แทนราษฎรทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องยึดมั่นในหลักการนี้อย่างเคร่งครัด ไม่กระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ” ทัศนะของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง

“...คนดีโดยทั่วไปจึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับการเป็นผู้แทนที่ดี แต่ทั้งสองอย่างอาจส่งเสริมซึ่งกันและกัน คนดีในบางโอกาสอาจเป็นได้แค่พลเมืองดี แต่ยังเป็นผู้แทนที่ดีไม่ได้ แต่ผู้แทนที่ดี หากประสงค์ให้ประชาชนยอมรับและศรัทธาต้องเป็นคนดีในฐานะพลเมืองด้วย จึงจักได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนที่ดี” ทัศนะของนายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง

“...บุคคลที่จะลงมาสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นคนที่มีเจตนารับผิดชอบต่อประเทศชาติและท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ การรับผิดชอบต่อประเทศชาติไม่ใช่จะแสดงออกเมื่อมีเจตนาจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทน แต่ควรจะดูจาก
พฤติการณ์การดำรงตนของบุคคลดังกล่าวก่อนหน้านี้ ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ประเทศชาติจากพฤติการณ์ที่ปฏิบัติมา คนที่มาเป็นผู้แทนของประชาชนจะต้องเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมมาก
กว่าประโยชน์ส่วนตนหรือของพวกพ้อง มองเห็นความอยู่รอดของประเทศชาติมากกว่าส่วนตน ตราบใดบุคคลที่ลง
สมัครรับเลือกตั้งหวังเอาเงินไปเป็นอามิสสินจ้าง เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้แก่ประชาชน เป็นคนที่ทำลายประเทศชาติทางอ้อม สร้างความอัปยศให้แก่ชาติบ้านเมือง สมควรได้รับการประณามว่าเป็นคนเนรคุณประเทศชาติ...” ทัศนะของ
นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง

“…นักการเมืองที่ดีที่ควรเลือก หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจที่จะทำให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดจนมีคุณธรรมและมีวิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตย...รวมทั้ง
ต้องเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้เข้าไปเพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ไม่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเอาผลประโยชน์มาแลกคะแนน หรือตอบแทนเฉพาะกลุ่มผู้ลงคะแนนให้ตนเท่านั้น...” ทัศนะของ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต.

นี่ก็เป็นนานาทัศนะที่หลากหลาย เลขาธิการกกต.กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคม จะต้องร่วมมือร่วมใจกันบอยคอตนักการเมืองเลว ๆ ที่ซื้อเสียงและทุจริตให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย พร้อมต้องช่วยกันบอกกล่าวให้ประชาชนได้รับรู้ว่า คนดีที่เขาควรเลือกต้องมีคุณสมบัติอย่างไร” ข้าพเจ้าขอให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า “คนดีในวิถีประชาธิปไตยควรมีคุณสมบัติ 3 ดี 3 เก่ง คือ คิดดี-คิดเก่ง พูดดี-พูดเก่ง ทำดี-ทำเก่ง คิดพูดทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง รวมทั้งศรัทธาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หวังว่าชาวเลยทุกท่านคงจะได้ใส่ใจในการเลือกส.ส.คราวนี้ ให้ได้คนดีมีความรู้ความสามารถ เพื่อปฏิบัติภารกิจของส.ส.ได้อย่างองอาจสมบูรณ์สง่างาม นำความเจริญก้าวหน้าและเป็นหน้าตาเป็นศักดิ์ศรีของชาวเลยต่อไป ไม่ให้เงียบเหงาเหมือนเป่าสากเพราะส.ส.ไม่มีปากเสียงในสภา หากต้องการรายละเอียดว่าส.ส.ควรมีคุณสมบัติเช่นใดมีบทบาทหน้าที่อย่างไร กลับไปอ่านคอลัมน์“การเมืองเรื่องของทุกคน...คนนะไม่ใช่แมว”ในนสพ.เมืองเลย “มหาชนไทเลย” ฉบับประจำวันที่ 1-15 ตุลาคม 2550 ได้...ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น: