วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การจัดการความรู้

การจัดการความรู้
โดย บุญโชค พลดาหาญ


การจัดการความรู้ (Knowledge Management :KM) มี key word คือ “จัดการ” กับ“ความรู้” ซึ่งมีหลายมุมมอง

ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสังคม (สคส.) มองการจัดการความรู้ใน 3 มิติ เทียบได้กับรูปสามเหลี่ยม โดยยอดบนสุดของสามเหลี่ยมจะเป็นเรื่อง ความรู้ในกระดาษ อยู่ในหนังสือในตำรา ต้องมีการจัดหมวดหมู่หนังสือ/ตำราเหล่านั้นแบบห้องสมุด หรือจัดเก็บทางคอมพิวเตอร์ให้เป็นระบบ

ต่อไปเป็น ความรู้ที่อยู่ในตัวคน ในตัวผู้ปฏิบัติงาน (มุมขวาของสามเหลี่ยม) จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้ได้ความรู้จากการพูดคุย เป็นการแชร์ทั้งความรู้และประสบการณ์ และอาจจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจด้วย

และสุดท้ายมุมซ้ายมือของสามเหลี่ยมเป็น ความรู้ในเครือข่าย คนมารวมกันแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเฉพาะคนที่รับผิดชอบงานด้านเดียวกันแต่มีเทคนิคต่างกัน เพื่อให้เกิด community of practice ขึ้นมา หากมีการทำ KM ทั้ง 3 มิติ ก็จะทำให้เราได้การจัดการความรู้ที่สมบูรณ์ และหัวใจสำคัญของการทำ KM อยู่ที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย

วิธีการในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ (Community of Practices : CoPs) หรือชุมชนนักปฏิบัติ จะเริ่มจาก กลุ่มจะต้องมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือมีปัญหาร่วมกัน หรือแสวงหาบางอย่างร่วมกัน จากนั้นแต่ละคนในกลุ่มจะมาเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ หรือประเด็นความสำเร็จ หรือเทคนิคการแก้ปัญหา หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตรงนี้จะทำให้เห็นวงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ KM และประการสุดท้ายเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม หากมีความสนิทสนมคุ้นเคย ไว้เนื้อเชื่อใจ รู้สึกปลอดภัย ก็จะเกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนกันได้ลึกมากขึ้น

การจัดการความรู้ จึงเป็นการจัดการให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นมา วิธีดีที่สุด คือ จัดให้คนได้คุยกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละไม่มากนัก หรือที่เรียกว่า “ตลาดนัดความรู้” ในแต่ละกลุ่มกำหนดประเด็นให้ชัด และต้องเป็นประเด็นที่เชื่อมไปสู่ความรู้หลักขององค์กร ที่สำคัญ ไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ต้องแลกเปลี่ยน case จริงที่เกิดขึ้น จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ เอาบทเรียนที่ได้รับมาแชร์กัน

ประโยชน์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ ทำให้ผู้ฟัง เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น เพราะเป็นการฟังจากกรณีศึกษา (case study) เมื่อเจอปัญหาจะสามารถประยุกต์ใช้ได้เลย ความรู้นี้จึงเป็นความรู้ที่เราเรียกว่า tacit knowledge นั่นเอง

การจัดการความรู้ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติจะต้องมี เพื่อให้คุณภาพของงานออกมามีประสิทธิภาพประสิทธิผล ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาคนในชุมชน จะต้องให้ความสนใจไปร่วมกันสร้างร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนใช้ทุนทางสังคมที่มี ให้ชุมชนได้มีการจัดการความรู้ มีเวทีให้ผู้คนได้นำประสบการณ์ต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง มีศูนย์สื่อความรู้ทั้งหลายให้ทุกคนได้ศึกษาเพื่อประเทืองปัญญา อันจะนำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมฐานความรู้ ผู้คนมีศักยภาพพึ่งพาตนเองได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติมั่นคงแข็งแรงเจริญก้าวหน้าต่อไป

ขอนำมาฝากให้พิจารณาโดยเฉพาะหน่วยงานอปท.ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าอยู่ใกล้ชิดและมีจิตสำนึกต่อประชาชนมากที่สุด มีบทบาทและมีงบประมาณมากที่สุด ครับผม


ไม่มีความคิดเห็น: