วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551

การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดเลย

การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดเลย
โดย บุญโชค พลดาหาญ รองผอ।สำนักงานกศน.จ.เลย
จากการที่สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ได้มีผลบังคับใช้ ปรับเปลี่ยนเป็นสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีนโยบายให้พัฒนาห้องสมุดประชาชน ให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต ปรับภารกิจห้องสมุดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรองรับความต้องการเรียนรู้ของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาตามอัธยาศัย ขยายขอบข่ายงานบริการให้ถึงประชาชนในพื้นที่เชิงรุก ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยทำงานร่วมกับเครือข่าย นั้น
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเลย(สำนักงานกศน.จังหวัดเลย) โดยการนำของว่าที่ร้อยตรีสมปอง วิมาโร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเลย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเลย และนายบุญโชค พลดาหาญ รองผู้อำนวยการฯ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและขับเคลื่อนให้สถานศึกษาและห้องสมุดประชาชนในสังกัดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ดังนี้
1. ให้มีการปรับปรุงคณะกรรมการห้องสมุดประชาชนให้เป็นปัจจุบัน โดยประสานเครือข่ายมาร่วมเป็นกรรมการ ให้ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอนั้น ๆ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้งตามรายไตรมาส เพื่อรับรู้รับทราบผลการปฏิบัติงาน และกำหนดทิศทางแนวทางในการดำเนินงาน พัฒนางานห้องสมุดประชาชน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของห้องสมุดประชาชน มีการจัดทำแผนพัฒนาห้องสมุด และแผนปฏิบัติงานประจำปี เพื่อใช้ประสานผู้ที่เกี่ยวและเครือข่ายทั้งหลายรับรู้รับทราบและร่วมดำเนินการต่อไป
२. กศน.เลย ได้พัฒนางานห้องสมุดประชาชน โดยทำห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (LLL PLAZA : LOEI LIFELONG LEARNING PLAZA) ทำห้องสมุดให้เหมือนบ้านที่ผู้มาใช้บริการมีความสะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน พัฒนาให้เหมือนศูนย์การค้าร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย เข้าง่ายออกง่าย มีความร่มรื่นสวยงาม โดดเด่นสะดุดตา จัดวางหนังสือและสื่อต่าง ๆ โชว์ให้เห็นและจับต้องได้ง่าย เป็นหมวดหมู่ ได้ปรับปรุงห้องสมุดประชาชนให้มีห้องและมุมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อเป็นระบบและสะดวกในการใช้บริการ มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศและการให้บริการที่รวดเร็วทันใจ โดยเปิดบริการตั้งแต่เวลา 08।30 – 19.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

3. มีการสรรหาบรรณารักษ์จากผู้ที่จบในวิชาเอกบรรณารักษ์โดยตรง โดยการประสานขอข้อมูลเชิงลึกจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลยซึ่งเป็นสถาบันผลิตบรรณารักษ์ เพื่อให้เลือกเฟ้นศิษย์ที่ดีที่สุดมาให้คณะกรรมการประกอบการพิจารณา เน้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและศรัทธาในวิชาชีพบรรณารักษ์ มีบุคลิกภาพดี มีจิตบริการ ยิ้มแย้มแจ่มใส ตามสโลแกนที่กำหนดไว้ คือต้องเป็นคนที่ “ยิ้มงาม ถามไถ่ ไขข้อข้องใจ ฉับไวบริการ เป็นนักประสานงานที่ดี” ห้องสมุดประชาชนนั้นเปรียบเสมือนหน้าต่างของกศน. เพราะมีผู้คนทุกระดับทุกอาชีพมาใช้บริการ ให้บรรณารักษ์ให้ความสำคัญแก่ลูกค้าเป็นสำคัญ เพราะลูกค้าของห้องสมุดนั้นหลากหลาย มีทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการในวิชาชีพต่าง ๆ รวมทั้งผู้ใฝ่รู้ และผู้ด้อยผู้พลาดผู้ขาดโอกาสทั้งหลาย ให้ผู้รับบริการได้มีส่วนร่วมเสนอแนะการพัฒนา เสนอปัญหาและความต้องการได้หลากหลายวิธี ทั้งโดยวิธีพูด การเขียนบันทึกในสมุดบันทึกแสดงความคิดเห็นที่จัดไว้ หรือการเขียนใส่ในกล่องรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำประเด็นต่างๆที่ได้มาพิจารณาดำเนินการต่อไป มีการพัฒนาบุคลากรห้องสมุด โดยการประชุม อบรม สัมมนา ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการประเมินบรรณารักษ์ทุกปี โดยใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้บรรณารักษ์ที่ดีที่สุดในการทำงาน เพราะงานห้องสมุดประชาชนจะดีหรือไม่ บรรณารักษ์มีความสำคัญที่สุด
4.ได้ประสานองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยซึ่งมีนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ เป็นนายกอบจ. เพื่อร่วมกันจัดและพัฒนาห้องสมุดประชาชนของจังหวัดเลยทั้ง 14 อำเภอ ให้มีศูนย์คอมพิวเตอร์ในการให้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชน รวมทั้งให้มีห้องสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ภายในห้องสมุดประชาชนทุกอำเภอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นเงินถึง 20 ล้าน 7 แสนกว่าบาท โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องมาเรียนคอมพิวเตอร์ คือ นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกศน. กลุ่มผู้นำท้องถิ่นและกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งหลาย กลุ่มหัวหน้าส่วนราชการหัวหน้าหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลุ่มผู้ที่สนใจโดยทั่วไป และทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยมีแผนที่จะสนับสนุนงานห้องสมุดประชาชนในปี 2551 คือ ขยายต่อเติมอาคารห้องสมุดประชาชนทุกอำเภอให้กว้างขึ้น จัดซื้อหนังสือสื่อต่างๆให้แก่ห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนชุมชนทุกแห่ง ในการบริการแก่พี่น้องประชาชน ต่อไป
5. กำหนดให้ห้องสมุดประชาชนทุกแห่งมีแผนการจัดกิจกรรมภายในห้องสมุดและบริเวณภายนอกห้องสมุดที่หลากหลายเป็นระยะ ๆ ไปตามช่วงฤดูกาลและความสนใจของผู้รับบริการตามความเหมาะสม เพื่อให้ห้องสมุดมีชีวิตชีวา บริการตอบสนองต่อสังคมได้เป็นอย่างดี เช่น การสอนวิชาชีพต่างๆ หลักสูตรระยะสั้น ๆ ที่ใช้เวลาไม่นาน การแข่งขันทักษะการอ่าน,การประกวดการเล่านิทานสร้างสานคุณธรรม,กิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย,กิจกรรมผู้เฒ่าเล่าเรื่องเมืองเลย, นิทรรศการวันสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น
6. กำหนดให้ครูศูนย์การเรียนชุมชนทุกคน เป็นคณะทำงานห้องสมุดประชาชนในอำเภอที่ปฏิบัติงาน เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในเชิงรุกในพื้นที่ เช่น
โครงการกระเป๋าหนังสือสู่ชุมชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสครองราชย์ ครบ 60 ปีโดยจัดทำกระเป๋าหนังสือจำนวน 999 ใบ เพื่อมอบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ครูกศน. ทุกคน นำหนังสือและสื่อต่างๆไปบริการแก่ประชาชนโดยหมุนเวียนหนังสือและสื่อเดือนละครั้งในวันมาประชุมประจำเดือนที่อำเภอ ซึ่งโครงการนี้จะพัฒนาเป็นโครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน โดยขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งเทศบาลต่าง ๆ จัดซื้อหนังสือดีมีสาระที่ประชาชนแต่ละครอบครัวจำเป็นต้องรู้หรือน่าสนใจ เช่น หนังสือกฎหมายประจำครอบครัว หนังสือคู่มือแนวปฏิบัติการติดต่องานของส่วนราชการหน่วยงานต่าง ๆ หนังสือวิชาชีพที่น่าสนใจ หนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและข้อคิดคติเตือนใจต่าง ๆ หนังสือการตั้งชื่อและการทำนายโชคชะตาราศี การกำหนดวันเวลาฤกษ์มงคลในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะเป็นหนังสือที่โดนใจที่แต่ละคนสนใจอยากรู้อยากอ่าน
การสำรวจและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่างๆเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของห้องสมุดประชาชนอย่างน้อยอำเภอละ 10 แห่ง, การนำหนังสือจากห้องสมุดประชาชนไปบริการภายในศูนย์การเรียนชุมชนเพื่อบริการนักศึกษาและประชาชนทั่วไป
การให้นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชน, การนำนักศึกษาเข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์ และมาเรียนรู้การใช้ห้องสมุด การค้นคว้าในห้องสมุดประชาชน, การมอบให้นักศึกษาไปศึกษาเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น
การจัดทำโครงการส่งเสริมการอ่านและเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลความรู้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยการทำชั้นหนังสือและนำหนังสือสื่อความรู้ข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ไปไว้ตามหน่วยงานสถานที่ที่ร่วมโครงการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล สถานีอนามัย สำนักงานทะเบียนราษฎร์ สำนักงานที่ดิน ท่ารถโดยสาร ห้างร้าน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น
จัดโครงการห้องสมุดประชาชนเคลื่อนที่ร่วมกับสถานศึกษาในสังกัดอื่นๆ,และร่วมกับโครงการจังหวัดเคลื่อนที่อำเภอเคลื่อนที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเคลื่อนที่ เป็นต้น
7.ได้ให้ครูศูนย์การเรียนชุมชน(ครูศรช.)ทุกคน สำรวจแหล่งเรียนรู้ที่ดีเด่นในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี อำเภอละอย่างน้อย 10 แห่ง เพื่อทำทำเนียบแหล่งเรียนรู้เป็นข้อมูลสารสนเทศเผยแพร่ในศูนย์การเรียนชุมชน ในห้องสมุดประชาชน และพัฒนาไปสู่การจัดทำวิดีทัศน์ในการเผยแพร่ในแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ ตลอดจนเผยแพร่ที่ศูนย์การเรียนชุมชน ที่ห้องสมุดประชาชน เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆและทางอินเทอร์เน็ต ให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในทุกระดับ การส่งเสริมสนับสนุนให้แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชนมีการพัฒนาและบริการแก่ชุมชนอย่างกว้างขวางแพร่หลาย โดยการจัดประชุมสัมมนาสร้างความตระหนัก ให้เห็นความสำคัญความดีงามของแหล่งเรียนรู้ การร่วมรับผิดชอบต่อสังคม การยกย่องให้เกียรติให้รางวัลต่างๆ มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ถึงแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้ครูกศน.นำนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้และจัดทำรายงานถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้สิ่งที่ได้ และสิ่งที่จะนำไปใช้ต่อไป

8. ให้นักศึกษากศน.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชนเพื่อเรียนรู้การใช้ห้องสมุด และศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากห้องสมุดประชาชน เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
9. พัฒนาศูนย์การเรียนชุมชนให้เป็นศูนย์สื่อ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสถานที่พบกลุ่มนักศึกษา และการเรียนรู้ของประชาชนที่มีความเพียบพร้อมด้วยสื่อ และมีบรรยากาศการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยการประสานงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณและร่วมดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ท้องถิ่นเข้ามาเป็นเจ้าของในการบริหารจัดการ มีการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์การเรียนชุมชนที่ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายต่างๆ และเป็นปัจจุบัน มีการประชุมกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อขับเคลื่อนศูนย์การเรียนชุมชนให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนด
10. จัดโครงการค่ายรักการอ่าน ร่วมกับ เซเว่นอีเลฟเว่น ซีพี จำกัดและสถานศึกษา สังกัดเขต
พื้นที่การศึกษาเลย มีการจัดตั้งชมรมรักการอ่านดำเนินการร่วมกัน
11. จัดโครงการบ้านหลังเรียน ร่วมกับสถาบันรามจิตติและศูนย์เบิ่งแยงลูกอีสาน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาจากสถานศึกษาต่าง ๆ มีที่อยู่และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการศึกษาหาความรู้หลังจากเลิกเรียนแล้ว มีมุมทำการบ้าน มุมรอผู้ปกครอง มุมสืบค้นอินเทอร์เน็ต มุมบันเทิงศึกษา มุมสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งกิจกรรมที่จัด เช่น การเรียนคอมพิวเตอร์โปรแกรมต่างๆ, การประดิษฐ์การ์ดอวยพร, การเรียนทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์, การทำดอกไม้ประดิษฐ์, การแข่งขันการเล่านิทานส่งเสริมคุณธรรม นิทานพื้นบ้าน, การประกวดการเขียนเรียงความ,การวาดภาพ การร้องเพลง การเล่นดนตรี เป็นต้น ที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเลย และห้องสมุดประชาชนอำเภออื่นๆที่มีความพร้อม ตลอดเครือข่ายต่าง ๆ ที่ร่วมดำเนินการ เป็นต้น
และได้จัดเตรียมความพร้อมบุคลากรให้มีความพร้อมในการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนตาม พรบ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ได้มากที่สุด
ผลของการดำเนินการอยู่ในระดับน่าพอใจในระดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกท่านทุกหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินการเป็นอย่างดี ไว้ ณ โอกาสนี้ขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนา และศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆซึ่งมีอยู่มากมายในจังหวัดเลยของเรา ครับผม

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

สภาพการดำเนินงานตามภารกิจด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ของครู ประจำศูนย์การเรียนชุมชน สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเลย

บุญโชค พลดาหาญ : สภาพการดำเนินงานตามภารกิจด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ของครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเลย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานตามภารกิจด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ของครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเลย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ใช้กลุ่มประชากร คือ ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน ซึ่งมีทั้งสิ้น จำนวน 90 คน เครื่องมือที่ใช้ใน การวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและแบบมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows

ผลการวิจัย มีดังนี้
1 สภาพการดำเนินงานตามภารกิจด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ของครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเลย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า สภาพการดำเนินงานตามภารกิจของครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการประชาสัมพันธ์ รองลงมาคือ ด้านการปฐมนิเทศ ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามลำดับ ส่วนด้าน ที่มีสภาพการดำเนินงานตามภารกิจของครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนต่ำที่สุด คือ ด้านการวางแผนการจัดการเรียนรู้

รายละเอียดฉบับสมบูรณ์ ดูได้ที่ห้องสมุดประชาชนในจังหวัดเลยทุกแห่งทุกอำเภอ ครับผม

จาก นายบุญโชค พลดาหาญ
ผู้วิจัย