วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หนังสือสามัญประจำบ้าน อีกโครงการหนึ่งของการณรงค์ส่งเสริมการอ่านในทุกครัวเรือน

หนังสือสามัญประจำบ้าน อีกโครงการหนึ่งของการณรงค์ส่งเสริมการอ่านในทุกครัวเรือน
โดย บุญโชค พลดาหาญ สำนักงาน กศน.จังหวัดเลย

จากการที่สำนักงาน กศน. มีนโยบาย ที่จะ ปรับศูนย์การเรียนชุมชนในทุกตำบลให้เป็น กศน.ตำบล และให้เชิญ ส.ว.,ส.ส.มาเปิดป้าย กศน.ตำบล อย่างน้อยคนละแห่ง เพื่อให้ภาคการเมืองได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของ กศน.ตำบล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ของสำนักงาน กศน. ที่จะใช้ในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ให้ปรากฏผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" ประกอบกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดย ค.ร.ม.ได้มีมีติ ให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ, ให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน และให้ 10ปีต่อไปนี้ คือ ปี2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของชาติ เพื่อขจัดการไม่รู้หนังสือ และเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่าน การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และจังหวัดเลยได้เปิดป้าย กศน.ตำบล ไปแล้ว ครบทุกตำบล ทั้ง 90 แห่ง ซึ่ง ส.ว. และ ส.ส.จังหวัดเลย ได้เปิดป้าย กศน.ตำบล รวม 31 แห่ง นอกนั้นเปิดป้าย กศน.ตำบล โดย ส.จ. และนายกอปท.ต่าง ๆ นับว่าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งท่านนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกอบจ. สมาชิกอบต. กลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ ศิษย์กศน.ทั้งศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี
ในการขับเคลื่อน กศน.ตำบล ในนโยบายเรื่องการการอ่านที่เป็นวาระแห่งชาติ นี้
สำนักงาน กศน.จังหวัดเลย ขอเสนอโครงการที่ทำมาแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในโครงการที่ชื่อว่า “โครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน” เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านทุกครัวเรือน เสมือนว่าเรื่องนี้เป็นหญ้าปากคอก ขอบอกว่าเรื่องนี้ได้แนวคิดมาจากยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งเป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันในครอบครัว เช่น ปวดหัวก็มียาพาราเซตามอล ปวดท้องก็มียาธาตุน้ำขาว จุกเสียดแน่นท้องก็ยาธาตุน้ำแดง ถูกของมีคมทิ่มแทงก็ใช้ยาแดงและผ้าก๊อซพันแผล และถ้าเป็นลมวิงเวียนศรีษะก็มียาดมยาหม่อง ที่ทุกหลังคาเรือนล้วนต้องมีไว้ประจำบ้าน
"หนังสือสามัญประจำบ้าน" ก็มีหลักการอันเดียวกัน เป็นความรู้ที่สำคัญคู่บ้าน ที่ทุกคนทุกท่านควรจะรู้หรืออยากรู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันจะประดังเข้ามาในชีวิตประจำวัน เพื่อใช้เป็นครูประจำบ้าน อันเป็นความรู้ที่จำเป็นหลากหลาย เช่นเนื้อหาในการประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดการใช้บริการหน่วยงานของรัฐ และเอกชน ทั้งกฎหมายที่ทุกคนควรรู้ การดูแลสุขภาพกายสุขภาพจิต การใช้ชีวิตที่ดีงามตามหลักธรรมของศาสนา หนังสือการ์ตูนหนังสือนิทานด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอันดี และมีหนังสือการใช้คอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตเบื้องต้น หนังสือการตั้งชื่อคนและดูฤกษ์งามยามดีโชคชะตาราศี .เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และมีนิสัยรักการอ่าน ที่ทุกท่านทุกคนเข้าถึงง่ายเพราะมีอยู่ในทุกครัวเรือน เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ สงสัยอะไรมีเวลาว่างเมื่อไรจะได้เปิดอ่าน เป็นหนังสือเป็นคู่มือประจำบ้านประจำครอบครัว
กศน.เลยได้นำร่องครอบคลุมทั่วทุกอำเภออำเภอละ 1-2 ตำบล ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้ผลิตหนังสือที่โดนใจขึ้นมาใหม่พิมพ์ไปแล้ว 6 เรื่อง(เล่ม) เป็นเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ น่าจับน่าอ่าน คือ เมื่อเราไปสถานีตำรวจ , เมื่อเราต้องคดีความ, เมื่อเราไปอำเภอ, เมื่อเราไปติดต่อเรื่องที่ดิน, เมื่อเราไปขนส่ง และเล่มที่ 6 ฤกษ์งาม-ยามดี โชคชะตาราศี มียอดพิมพ์ครั้งแรกอยู่ที่ 40,000 เล่ม ใช้ขับเคลื่อนส่งเสริมการอ่านอยู่ในขณะนี้ ช่วงนี้รอการสนับสนุนงบประมาณขยายผลจากภาคีเครือข่ายอปท. ซึ่งได้ของบประมาณไปทุกแห่งรวมหลายล้าน เฉพาะอบจ.ก็ขอไป 7-8 ล้าน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอนุมัติงบประมาณออกมาใช้ คาดหวังไว้ว่าภาคีเครือข่ายทุกท่านคงจะสนับสนุนด้วยดี เพราะการส่งเสริมการอ่านนี้ค.ร.ม.กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกคนทุกหน่วยงานจะต้องจัดและสนับสนุนร่วมด้วยช่วยกัน ผลตอบรับเท่าที่ฟังดูหลาย ๆ ท่านเห็นด้วยกับโครงการนี้
และกำลังผลิตหนังสือดีออกมาเพิ่มเติมอีก 2 เล่มด้วยกัน คือ "ประวัติศาสตร์ชุมชนประวัติหมู่บ้านในจังหวัดเลย" เพื่อสืบสานพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระราชินีที่เคยให้ไว้ ที่เป็นห่วงเรื่องโรงเรียนไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ ทำให้เยาวชนขาดจิตสำนึก ขาดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย จึงได้รวบรวมมาได้ 916 หมู่บ้าน 20 กว่าชุมชน โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมที่ผู้ใหญ่บ้านผู้เฒ่าผู้แก่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่ ควบคู่กับที่นักวิชาการรวบรวมไว้ นำมาจัดเวทีเสวนาชำระความถูกต้องเป็นรายหมู่บ้าน โดยการเสวนาระหว่างผู้รู้ในแต่ละหมู่บ้านและชาวบ้านทั้งหลาย กับนักวิชาการนักโบราณคดีนักประวัติศาสตร์จนเป็นที่พอใจว่าถูกต้อง ช่วยกันกรองช่วยกันดูจนมั่นใจ แล้วจึงนำไปพิมพ์ให้เป็นรูปเล่ม และพิมพ์ในแผ่นไวนิลให้ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้อ่านกันโดยทั่วกัน และอีกเล่มนั้นชื่อว่า "เมืองเลยที่เรารัก" ซึ่งรวบรวมของดี หลัก ๆ ที่มีและประวัติศาสตร์เมืองเลยมาเผยแพร่
หวังว่าหนังสือสามัญประจำบ้านนี้ จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการอ่านได้เป็นอย่างดี และสิ่งที่หวังไว้ปลายทาง คือ “การสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้” และ “แก้ปัญหาอมตะคนชนบทที่ผู้คนทั้งหลายกล่าวถึงตลอดมา คือ โง่ จน เจ็บ" ครับผม