วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ประสบการณ์ ผลงาน อาชีพ ทักษะด้านต่าง ๆ มีคุณค่า

ประสบการณ์ ผลงาน อาชีพ ทักษะด้านต่าง ๆ มีคุณค่า นำมาเทียบโอนเพื่อจบการศึกษาได้เร็วขึ้น
โดย บุญโชค พลดาหาญ


จากกระแสโลก ข้อบังคับตามกฎหมาย นโยบายของรัฐ ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงระดับมัธยมปลาย และให้ทุกคนจบการศึกษาภาคบังคับระดับมัธยมต้น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยแรงงานที่มีอายุ 15-59 ปี ให้มีการศึกษาเฉลี่ย 9.5 ปี ภายในปี 2551 ซึ่งปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 ปีนั้น

การศึกษานอกโรงเรียนมีทางเลือกใหม่มาให้ สามารถเข้าเรียนใกล้บ้านได้ทุกที่ มีการเทียบโอนความรู้ได้ จบการศึกษาได้เร็วไวขึ้นแล้วแต่ศักยภาพแต่ละท่าน โดยอบต.และเทศบาลทุกแห่งนั้น หันมาเป็นเจ้าภาพจัดการศึกษาร่วมกับ กศน. โดยขอให้ครูโรงเรียนต่าง ๆ มาช่วยสอน

งบประมาณค่าตอบแทนครูก้อนนี้ อบต.และเทศบาลทุกที่จะสนับสนุน บางที่ลงทุนจัดครูสอนทุกหมู่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนวัสดุการศึกษาที่จำเป็น

เน้นการเทียบโอนอาชีพ ประสบการณ์ และทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งหลาย เพื่อให้จบ
การศึกษาได้เร็วขึ้น ไม่ต้องฝืนมาเรียนในสิ่งที่รู้แล้ว
เรียนเฉพาะแนวทางหลักการใหม่ ๆ และทักษะเฉพาะด้าน ให้มีการบูรณาการความรู้สู่การปฏิบัติ จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ไม่ติดยึดรูปแบบการเรียนและวิธีวัดผลที่ตายตัว ที่ให้ทั่วจังหวัดใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน อันไม่สอดคล้องกับสาระเนื้อหาที่เรียน ซึ่งเปลี่ยนไปตามบริบทแต่ละที่ ให้มีการบันทึกองค์ความรู้พร้อมหลักฐาน ทั้งด้านงานอาชีพ ประสบการณ์ ผลงานและทักษะด้านต่าง ๆ ทั้งหลาย รวมทั้งการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดความรู้ด้านต่าง ๆ สะสมไว้ นำมาใช้เทียบโอนเพื่อสำเร็จการศึกษาได้ ให้เรียนเฉพาะในส่วนที่ขาดหรือไม่ผ่านเท่านั้น มีการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง โดยอิงหลักสูตรเป็นกรอบเอาไว้
ส่วนเนื้อหาสาระให้ยึดตามบริบทของแต่ละที่ แล้วมีการสอนเสริมให้โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ

นี่คือการปฏิรูปการเรียนการสอนและการวัดผลใหม่ ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องเดียวกันกับชีวิต ไม่ขีดเส้นแบ่งออกจากกัน หันมาใช้นวัตกรรมตลอดจนรูปแบบที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับสภาพความแตกต่างระหว่างบุคคลและความแตกต่างของท้องถิ่น

กระบวนการทั้งหมดทั้งสิ้นมุ่งให้ทุกคนมีพัฒนาการทางร่างกาย ให้มีสติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมเหมาะสมกับวัย ให้มีความรู้คู่คุณธรรม ที่จะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุขบนพื้นฐานความเป็นไทยอย่างมีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจสามารถพึ่งตนเองได้ มีทักษะที่จะแสวงหาความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีทักษะเบื้องต้นในการประกอบอาชีพ มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลพอที่จะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลกได้ ให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้องทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทย

ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของชาติ หากขาดความตระหนักไม่ใส่ใจกับนโยบายและให้ความร่วมมือ ก็คงถือว่าแล้งน้ำใจ ยังไงก็เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่งผลต่อบ้านเมือง เรื่องยกระดับการศึกษาถือว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การที่กฎหมายให้คืนอำนาจแก่ประชาชน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองและดูแลบ้านเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหลอมรวมเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระบบรัฐสภา หรือว่าผ่านระบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถือว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ในอันที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาบ้านเมืองอย่างชาญฉลาดต่อไป รวมทั้งเป็นเงื่อนไขในการแข่งขันในเวทีโลก ที่ถูกสับโขกเอาเรื่องการศึกษาของประชากรกำลังแรงงานมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการกีดกันทางการค้า ที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจตั้งไว้ จึงขอให้ทุกท่านได้โปรดให้ความร่วมมือ ถือว่าร่วมด้วยช่วยกัน สมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาได้ที่ศูนย์การเรียนชุมชนในตำบลใกล้บ้าน หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลทุกแห่ง สอบถามรายละเอียดได้จากสถานที่ดังกล่าว หรือจากศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทุกอำเภอ ครับผม


“สอย...สอย...สอย...ไผบ่ ไปเรียน กศน. ... ถือว่าบ่มีสังคมกว้างไกล...บัดห่าไปเรียนแล้ว...เดี๋ยวสิพ้อแต่แนวดีดี...คันฮู้จั่งซี้ มาเรียนแต่โดนแล้ว...สิหว่าเด้...อาวเอย”


“สอย...สอย...สอย...สาวส่ำน้อยบ่ฮู้จัก กศน. ...บัดห่าพ้อสรพงศ์ ชาตรี... นี่บ๋อ...อ้ายมาเรียนกศน.คือหล่อแท้...ดุ๋ยดุ๋ย...นี่กะสอย...”(สรพงศ์ก็เรียนกศน.คือกัน)


“สอย...สอย ...สอย...ไปหม่องใดกะพ้อแต่ศิษย์ กศน. ...บ่ว่าพ่อผู้ใหญ่หรือพ่อกำนัน ...บ่ว่าร้านอาหารหรือว่าหม่องจั่งหว่า... คันจั่งซั่นกะถือว่ากศน.สัมพันธ์ก็แล้วกันน้อนางเอย...นี่กะสอย...”

ไม่มีความคิดเห็น: