วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

กศน.เลยส่งเสริมการอ่านให้ผู้ใหญ่บ้านกำนันเป็นสมาชิกห้องสมุดฯทุกคน

กศน.เลยส่งเสริมการอ่านให้ผู้ใหญ่บ้านกำนันเป็นสมาชิกห้องสมุดฯทุกคน
โดย บุญโชค พลดาหาญ

เป็นที่รู้กันว่าคนไทยนั้นไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะจากสถิติที่น่าเชื่อถือที่ราชการสำรวจไว้ มีคนไทยไม่อ่านหนังสือถึง 18 ล้านคน เฉลี่ยคนหนึ่งอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด ทั้ง ๆ ที่การอ่านจัดว่าเป็นการพัฒนาตนทางลัดที่ดี เพราะหนังสือที่คนทั้งหลายเขียนไว้ ล้วนมีคุณค่ามากมายอเนกอนันต์ ทั้งด้านอาชีพทั้งหลาย ศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีมากมายในโลกนี้ รวมทั้งด้านบันเทิงศิลปวัฒนธรรมประเพณี ข้อคิดข้อเขียนที่ทางผู้มีประสบการณ์ผู้รู้ ผู้ประสบความสำเร็จทั้งหลายเขียนไว้ ฯลฯ หนังสือจึงเป็นสรรพวิชาที่หลากหลายที่ให้เราได้เรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมชุมชน

เหตุผลหนึ่งที่คนไทยไม่ชอบอ่าน เพราะหนังสือนั้นอยู่ไกลตัวและไม่โดนใจ
การที่จะให้คนที่อยู่ท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร นั่งรถโดยสารหรือรถส่วนตัวระยะทางเป็น 10 เป็น 100 กิโลเมตรมาอ่านหนังสือ ถือว่าเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก หากมีหนังสืออยู่ใกล้ตัวและเป็นหนังสือที่โดนใจ มีหลากหลายให้เลือกอ่าน ทั้งเป็นสิ่งที่แต่ละท่านจำเป็นต้องรู้จำเป็นใช้ โดยมีผู้กระตุ้นให้อยากรู้อยากอ่าน ก็น่าจะทำให้คนอ่านหนังสือกันมากขึ้นเป็นแน่ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ตัวผู้นำเป็นตัวอย่าง


กศน.เลยจึงมุ่งหวังผลที่จะให้ผู้นำทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านและกำนัน สารวัตรกำนันผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำที่เป็นทางการในระดับพื้นที่ทุกหมู่บ้าน หวังที่จะให้รักการอ่าน เพื่อนำสาระจากการอ่าน มาพัฒนางานพัฒนาตนเองพัฒนาสังคมชุมชน ให้ผู้นำดังกล่าวทุกคนใน 920 หมู่บ้านเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชนกิตติมศักดิ์

ทางกศน.จะนำหนังสือหลักที่หลากหลายในลักษณะหนังสือสามัญประจำหมู่บ้าน เช่น ด้านอาชีพต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับพื้นที่ การเกษตรทฤษฎีใหม่ ในด้านเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการติดต่องานต่าง ๆ ของส่วนราชการต่าง ๆ การดูแลพัฒนาทั้งทางสุขภาพกายและจิต หลักคิดหลักปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา การพัฒนาบุคลิกภาพทางกาย มารยาทในการเข้าสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมการจัดงานต่าง ๆ ในภูมิภาค ทั้งหลักทางโหราศาสตร์ต่างๆ หนังสือการ์ตูนวรรณคดีนวนิยายเรื่องสั้นที่ให้คติสอนใจ แหล่งท่องเที่ยวของดีทั้งหลายที่มีในพื้นที่ รวมทั้งวีซีดีต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้นเท่าที่จะหาได้

โดยให้สิทธิพิเศษยืมได้ครั้งละหนึ่งเดือน กำหนดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนยืมชุดใหม่ในวันประชุมประจำเดือนทุกเดือนไป เพื่อให้ผู้นำได้นำหนังสือไปอ่าน และบริการแก่ลูกบ้านของตนได้ยืมอีกทอดหนึ่งต่อไป โดยให้ทำบันทึกการยืมไว้เป็นหลักฐาน จะได้รู้กันว่าผู้นำแต่ละท่านได้อ่านและนำไปขยายผลต่อลูกบ้านเป็นใครบ้างมีรายละเอียดอย่างไร

สำหรับหนังสือที่ใช้ในโครงการนี้ ส่วนหนึ่งใช้หนังสือที่มีในห้องสมุดประชาชน รวมทั้งระดมจากคนที่มีจิตศรัทธาทั้งหลาย การขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ทางหน่วยงานมีนโยบายผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ซึ่งมีอยู่เกือบทุกหน่วยงานร่วมสนับสนุน รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากอบจ. อบต.เทศบาล การจัดหาทุนที่หลากหลายใช้จัดตั้งเป็น “กองทุนส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต” ขณะนี้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมาเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น 67,109.25 บาท (หกหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยเก้าบาทยี่สิบห้าสตางค์)

โครงการนี้ทางผู้เขียนเคยนำร่องไว้ในอำเภอด่านซ้ายในปี 2529 เหล่าผู้นำหมู่บ้านทั้งหลายให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ทำให้ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นห้องสมุดดีเด่นของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้รับโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อปี 2530 เมื่อได้มีโอกาสกลับคืนมาทำงานที่จังหวัดเลยอีกครั้ง จึงขอรื้อฟื้นทำทั้งจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งในการจัดรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน เชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนเสนอแนะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การรักการอ่าน การสร้างสังคมฐานความรู้ร่วมกันต่อไป...ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น: