วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

คนไทย 18 ล้าน ไม่อ่านหนังสือ ถือเป็นสถิติน่าตกใจ

คนไทย 18 ล้าน ไม่อ่านหนังสือ ถือเป็นสถิติน่าตกใจ
โดย บุญโชค พลดาหาญ

“ หนังสือคือยาขมหม้อใหญ่ ทั้งๆที่ประโยชน์มากมาย แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบอ่าน” ยิ่งหนังสือวิชาการ หยิบขึ้นมาอ่านเมื่อใด เป็นได้ง่วงขึ้นทุกที ทั้ง ๆ ที่การอ่านมีประโยชน์อนันต์เพราะเป็นมวลประสบการณ์ ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน งานสร้างสรรค์ งานด้านบันเทิง ความรู้
เชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี วรรณคดีและสถิติต่าง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายในจักรวาล ที่มนุษย์สรรสร้างไว้เป็นตัวหนังสือ สามารถหยิบถือมาอ่านได้ทุกเมื่อ ทั่วโลกเชื่อถือว่า หนังสือหนังหา คือแหล่งรวมสรรพวิชาและปรากฏการณ์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมากมายในจักรวาล ปราชญ์ทุกท่านยกย่องว่ามีคุณค่ายิ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่ตาย สืบค้นได้ง่ายโดยการอ่าน ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ นำมาสู่การพัฒนาตนเองพัฒนาสังคม สั่งสมพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นวิวัฒนาการ ให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา และพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยไป



มีเรื่องที่ใคร ๆ ก็ฉงน สถิติที่คนไทยไม่อ่านหนังสือ 18 ล้านคน ท่านรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสง ให้ กศน.ออกแรงเป็นเจ้าภาพผู้ประสาน จัดการให้ผู้ที่ไม่อ่านและไม่ชอบอ่าน ให้หันมาอ่านหนังสือ โดยขอความ ร่วมมือทุกภาคส่วน ชวนกันทำเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง


เรื่องนี้กศน.เลยได้ถือปฏิบัติ เริ่มจัดการที่ตัวผู้บริหารและบุคลากร กศน. รวมทั้งขอให้นักศึกษาทุกคน เริ่มต้นด้วยการสมัครเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชน ให้ไปสืบค้นและยืมหนังสือไปอ่าน แต่ละเดือนนั้น ให้ยืมไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ให้ทางบรรณารักษ์เป็นผู้เก็บสถิติ ใครไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ถือว่าใช้ไม่ได้
อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างให้แก่ประชาชน และส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง/สังคม


นักศึกษา กศน.ถูกบ่ม อบรมให้นิยมอ่านหนังสือ โดยถือเป็นเรื่องสำคัญ ให้ทำรายงานจากการค้นคว้าด้วยการอ่าน ส่งเป็นงานประกอบการเรียนทุกสัปดาห์ และให้เป็นอาสาสมัครรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน เป็นเครือข่ายการทำงานกับครูและบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน


ส่วนคนที่ไม่อ่านและไม่ชอบอ่านหนังสือ ที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ก็ทำให้คึกคักโดยสร้างกระแสและทำงานเชิงรุก บุกเคาะถึงประตูบ้านเป็นรายคน การสืบค้นกลุ่มเป้าหมายและรณรงค์ให้อ่าน งานนี้มอบให้นักศึกษา กศน.ทุกคน ให้ผลทางการเรียน เป็นชั่วโมงทำกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต คิดว่า เฉพาะนักศึกษากศน.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณเกือบสองหมื่นคน คงจะส่งผลรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบอ่านหันมาอ่านหนังสือ โดยอาสาสมัครนักศึกษาจะนำสื่อหนังสือส่งถึงบ้าน รวมทั้งขอให้ท่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นจุดประสานงานสนับสนุนและการติดตามผล


คนกศน.ทุกคนจะถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยจัดประสานหน่วยงานองค์การต่าง ๆ ทุกภาคส่วนให้สนับสนุนสื่อ รวมทั้งขอความร่วมมืออปท.สนับสนุนงบประมาณ มีการจัดรับบริจาคหนังสือตามห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนชุมชนทุกแห่ง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือกระจายหนังสือ และถือเป็นแหล่งศูนย์กลางรวบรวมสรรพวิชาไว้ให้ค้นคว้า การบริจาคหนังสือทำได้ทั่วไปโดยตรงที่บ้านผู้ใหญ่บ้านบ้านกำนัน หรือจะมอบให้กันเองกับผู้ไม่มีหนังสือก็ได้ เพียงแต่ขอให้ปลุกเร้าให้เห็นคุณค่าจากการอ่าน ว่าคุณค่านั้นเกิดประโยชน์อย่างไร การกระจายหนังสือบริหารหนังสือ คงจะถือจุดกระจายเริ่มจากห้องสมุดประชาชน
โดยบรรณารักษ์จะต้องตั้งต้นรับบริจาคและทำทะเบียนรับ/แจกจ่าย ส่งหนังสือให้ครูศรช.นำไปไว้ที่ศรช. เพื่อ ลงทะเบียนรับและบริหารจัดการต่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้นักศึกษากศน.เป็นทีมงาน รวมทั้งการจัดการทำเป็นศูนย์สื่อให้ค้นคว้าที่ศรช. โดยการขอรับการสนับสนับสนุนจาก อปท.และท้องถิ่น ผู้มีอันจะกินพ่อค้าคหบดีผู้
ที่มีความพร้อมทั้งหลาย


การให้ทานบริจาคหนังสือสื่อความรู้ ผู้เป็นปราชญ์กล่าวไว้ว่าได้บุญยิ่ง เพราะสิ่งที่ให้ใช้เสริมความรู้สติปัญญา เป็นทรัพย์ที่มีค่าติดตัวไปจนตาย ส่งผลให้มีการพัฒนาตนและสังคม ทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สังคมแห่งปัญญา มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง เป็นสังคมแห่งการพึ่งพาตนเองที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในโลกทุนนิยมและกระแสสังคมแห่งยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างรู้เท่าทัน เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ยิ่งใหญ่จากการอ่านหนังสือที่หลากหลาย สามารถนำมาพิจารณาใคร่ครวญประกอบการตัดสินใจ ทำให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยไม่ติดหล่มคำโฆษณาชวนเชื่อ ที่รุกกันมาอย่างเหลือเฟือทางสื่อสารมวลชนต่างๆ


นี่คือบางส่วนประโยชน์จากการอ่านอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย เชิญทุกท่านได้กรุณาร่วมรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน เพื่อเป็นการทำบุญทำทานที่ยิ่งใหญ่ ขอขอบคุณหลายหลายไว้ล่วงหน้าเด้อ..........พี่น้อง

ไม่มีความคิดเห็น: