วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

กศน.เลยเดินหน้าร่วมจัดการศึกษากับ อปท.และเครือข่าย

กศน.เลยเดินหน้าร่วมจัดการศึกษากับ อปท.และเครือข่าย
โดย บุญโชค พลดาหาญ


จากการที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ และ พรบ.กระจายอำนาจฯฉบับปัจจุบัน ให้ทุกท่านทุกภาคส่วนล้วนจัดการศึกษาได้ เป็นการกระจายอำนาจและระดมสรรพกำลัง มุ่งหวังการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ให้การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทั้งโรงงาน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นๆ เป็นผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษา มุ่งพัฒนาให้ทุกคนเป็น “คนเก่ง คนดี และมีความสุข” ปลุกกระแสให้ทุกคนทุกภาคส่วนร่วมกัน “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เข้มแข็ง” เสริมแรงให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชน ให้ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้การศึกษาและรับการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต

ให้มวลมิตรภาคีเครือข่ายเข้าไปส่งเสริมเติมเต็มสนับสนุนเรื่องการศึกษา เป็นการเติมทุนทางปัญญาให้กับสังคม จัดการศึกษาให้ผสมผสานบูรณาการกับชีวิต ทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การพัฒนาทักษะชีวิตพัฒนาสังคมและชุมชน การพัฒนากลุ่มคนวัยแรงงาน(อายุ15-59ปี) ให้มีการศึกษาระดับมัธยมขึ้นไปภายในปี 2551 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจังหวัดเลยมีกว่า 3 แสนคนนั้น บัดนี้ภาคีเครือข่ายได้ลงนามทำข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานอปท.เลย(อบจ.อบต.เทศบาล)และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนกับกศน.พอสรุปได้ว่า


อปท.จะจัดการศึกษานอกระบบโดยให้งบประมาณมาสนับสนุน เป็นทุนดำเนินการด้านวัสดุครุภัณฑ์อาคารสถานที่และค่าสอน ร่วมคัดเลือกครูมืออาชีพจากโรงเรียนต่างๆก่อนใช้ครูมือใหม่ ให้สอนตอนกลางคืนหรือวันเสาร์อาทิตย์ ที่มวลมิตรประ
ชาชนมีเวลาว่างจากการทำงาน เพื่อจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับวิถีชีวิต (ขณะนี้อบจ.เลยสนับสนุนคอมพิวเตอร์/ห้องสมุดอิเล็คทรอนิคให้กศน.ทุกอำเภอรวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท จัดสนับสนุนการจัดอบรมวิชาชีพอำเภอละ 2 แสนกว่าบาทรวมเกือบ 3 ล้านบาท สนับสนุนโครงการกศน.สัญจรพบประชาชนร่วมกับอบจ.เลยร่วมแสนบาท และจะสนับสนุนงบประมาณการจ้างบุคลากรมาช่วยสอนคอมพิวเตอร์และดูแลห้องสมุดอิเลคทรอนิคทุกอำเภอต่อไป ส่วนอบต.เทศบาลต่างๆสนับสนุนอาคารที่ทำการศูนย์การเรียนชุมชนพร้อมวัสดุครุภัณฑ์การศึกษาและค่าสอน ซึ่งบางแห่งสนับสนุนคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทแล้ว)

คิดว่าปี 2549 จัดเท่าที่จัดได้ก่อนเพราะตอนทำแผนท้องถิ่นไม่ได้ทำข้อบังคับงบประมาณไว้ หากจัดงบประมาณกลางปีได้ก็จะเป็นการดี เพื่อให้มีตำบลนำร่องจัดงบประมาณให้ทุกหมู่บ้าน ส่วนตำบลอื่นๆ นั้นจัดตามกำลังความพร้อมที่มี สำหรับปี 2550-2551 จึงจัดงบประมาณให้ครบทุกหมู่บ้าน ให้มีครูสอนการศึกษานอกโรงเรียนเต็มพื้นที่ งบประมาณการศึกษาหมู่บ้านละ 5 หมื่นประมาณนี้ โดยสมาชิกอปท.ผู้นำทุกหมู่บ้านที่การศึกษาไม่จบมัธยมปลาย ให้มาเข้ารับการศึกษารวมทั้งระดมชาวบ้านมาเรียนกันทุกคน ร่วมกันนิเทศติดตามผลประเมินผล การพัฒนาตนเองพัฒนาสังคมให้ก้าวไกล ด้านเครือข่ายภาคีพันธมิตรส่วนต่างๆ จะช่วยทางด้านวิทยากรและอาคารสถานที่ รวมทั้งอาจมีงบประมาณวัสดุอุปกรณ์สนับสนุน นับเป็นคุณอนันต์อันยิ่งใหญ่

ส่วนกศน.จะทำในเรื่องประชาสัมพันธ์ การดูแลหลักสูตรและคุณภาพมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาบุคลากรสื่อการเรียนการสอนการนิเทศติดตามผลประเมินผลรายงานผล


จนถึงปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลต่างๆ รวมทั้งเขตพื้นที่การศึกษาสถานศึกษาในสังกัด มหาวิทยาลัยราชภัฎ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา และกำลังทยอยมาทำข้อตกลงร่วมกันอีกมากมาย นี่คือความจริงใจที่ทุกฝ่ายผนึกกำลังกันร่วมยกระดับการศึกษาให้คนกว่า 3 แสนคน และร่วมส่งเสริมให้เกิดผล สร้างชุมชนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สังคมฐานความรู้ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พวกเราขอชื่นชมและปรบมือให้ อปท.ทั้งหลายและเครือข่ายพันธมิตรทุกท่าน ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น: