วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ศูนย์การเรียนชุมชน...แหล่งเรียนรู้ของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน

ศูนย์การเรียนชุมชน...แหล่งเรียนรู้ของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน

โดย บุญโชค พลดาหาญ

ฉบับนี้ กศน.ขอบอกกล่าว เล่าถึงเรื่อง “ศูนย์การเรียนชุมชน” ให้ทุกคนรับทราบตามหลักธรรมาภิบาล ที่ทุกส่วนราชการต้องยึดถือปฏิบัติ ในการบริหารงานภาครัฐ ให้ยึดหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมาย หลักการใช้คุณธรรมที่ดีงาม หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น หลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักให้เกิดผลคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้ง รวมทั้งให้ยึดหลักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความมุ่งมั่นทำงานให้ประสบความสำเร็จและเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ขอเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบพอสังเขปดังนี้ เพื่อที่ทุกท่านจะได้เข้ามาตรวจสอบ ควบคุมดูแล ร่วมบริหารจัดการและร่วมรับบริการต่อไป


ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 289 กล่าวไว้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น อันเป็นการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งทางการศึกษานอกโรงเรียนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดการศึกษานอกโรงเรียนในชุมชนขึ้นในรูปแบบศูนย์การเรียนชุมชน โดยจัดกิจกรรมการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา การศึกษาสายอาชีพ การศึกษาตามอัธยาศัย การบริการข่าวสารข้อมูล และเป็นแหล่งรวบรวมสื่อการศึกษาทุกรูปแบบ เช่น สื่ออิเล็คทรอนิกส์ สื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา โดยมีบุคลากรประจำศูนย์การเรียนชุมชน คือ ครูศูนย์การเรียนชุมชน ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะแนว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกประเภท พร้อมทั้งให้บริการสื่อการเรียนการสอนแก่นักศึกษาและประชาชน โดยปฏิบัติงานวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงติดต่อกัน และสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า5 วัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นการปฏิบัติงานเต็มวัน เพื่อตอบสนองความแตกต่างของนักศึกษาที่มีเวลาว่างไม่ตรงกันจะมาพบกลุ่มหรือศึกษาค้นคว้าได้ตามสะดวก ไม่ต้องจำกัดเวลา ให้ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือน ในอัตราตามวุฒิการศึกษาแต่ไม่เกินวุฒิปริญญาตรี โดยศูนย์การเรียนชุมชนจะต้องเข้าเกณฑ์ขั้นต่ำด้วย ดังนี้ (ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค. 0526.7/31309 ลง.16 ต.ค.2541)


เกณฑ์ขั้นต่ำศูนย์การเรียนชุมชน


การบริหารจัดการ


1. อาคารสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ มีสถานที่ตั้งสำหรับใช้ในการดำเนินงานของศรช.ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่าเหมาะสม, มีเครื่องเล่นวีดิทัศน์และเครื่องรับโทรทัศน์อย่างน้อย 1 ชุด, มีวิทยุเทปอย่างน้อย
1 เครื่อง, มีสื่อ แบบเรียน ชุดวิชา แถบบันทึกเสียง และวีดิทัศน์ทางการศึกษาอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับกิจกรรมหรือสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ, มีครุภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางสื่อการเรียน ตู้เก็บเอกสาร เป็นต้น


2. การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการ มีการจัดเตรียม ควบคุม ดูแล และใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่ให้เหมาะสมสำหรับการจัดกิจกรรมของศูนย์การเรียนชุมชน, มีการจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ให้เป็นปัจจุบัน และดูแลรักษาให้สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ, สื่อการเรียนการสอน ให้มีการจัดระบบหมวดหมู่และประเภทของสื่อให้สะดวกต่อผู้ใช้บริการ, เผยแพร่สื่อและเอกสารประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและมารับบริการจากศูนย์การเรียนชุมชนอย่างต่อเนื่อง, ประสานงานกับชุมชน องค์กรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หน่วยงานองค์กรและประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนชุมชน, จัดทำศูนย์ข้อมูลชุมชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ให้บริการข้อมูล ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในรูปแบบการจัดนิทรรศการ แผนภูมิ ป้ายนิเทศ การแนะแนวเพื่อการศึกษาต่อและการพัฒนาอาชีพ


กิจกรรมการเรียนรู้


1. มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา และ/หรือ


2. ส่งเสริม สนับสนุน เอื้ออำนวยความสะดวก และ/หรือประสานงานเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน สถานประกอบการ และประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตดังต่อไปนี้ กิจกรรมนันทนาการ
เป็นการพัฒนาทางด้านสุขภาพ อนามัยและจิตใจ เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การวาดรูป การร้องเพลง การเล่นดนตรี และการละเล่นต่าง ๆ ของชุมชน, กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาสายอาชีพ/จัดกลุ่มสนใจ เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคลากรต่าง ๆ เช่น สตรี แม่บ้าน ผู้สูงอายุเด็ก คนพิการ ฯลฯ, กิจกรรมส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้ สืบทอด และเผยแพร่, กิจกรรมพัฒนาชุมชนให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการรวมกลุ่ม เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย การปลูกป่า การเป็นอาสาสมัครเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด เอดส์ ฯลฯ


นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดบทบาทภารกิจครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน(ศรช.) ตามคู่มือการปฏิบัติงานครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2546 ให้ถือปฏิบัติโดยสรุปดังนี้


ภารกิจของครูศรช.ในด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีดังนี้คือ การประชาสัมพันธ์/การแนะแนว, การปฐมนิเทศ, การวิเคราะห์หลักสูตรและจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น, การวางแผนการจัดการเรียนรู้, การจัดกระบวนการเรียนรู้(การพบกลุ่ม,การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง,การทำโครงงาน,การสอนเสริม,กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต), การวัดและประเมินผลการเรียนรู้


ภารกิจของครูศรช.ในด้านการบริหารจัดการ มีดังนี้ คือ สำรวจความต้องของประชาชน ชุมชน เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในศรช. และเก็บรวบรวมหลักฐานความต้องการการจัดกิจกรรมกศน.และกิจกรรมอื่น ๆ ของประชาชน, ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในศรช., จัดทำข้อมูลชุมชนและจัดเก็บอย่างเป็นระบบพร้อมที่จะให้บริการ, จัดทำแผนงานและโครงการเพื่อเสนอเข้าแผนพัฒนาตำบลและ ศบอ., ประสานงานกับบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ งานกศน., ให้บริการวัสดุอุปกรณ์และสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ในศรช. เพื่อใช้ศึกษาด้วยตนเองของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต, จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น (ได้แก่ การส่งเสริมการรู้หนังสือให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมชุมชนปลอดยาเสพติด การจัดการแข่งขันกีฬา การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยการประสานงานอาศัยความร่วมมือของบุคลากรในชุมชน นักศึกษากศน. เป็นผู้ช่วยดำเนินการ), เก็บรวบรวมหลักฐานที่เป็นกิจกรรมการศึกษาของนักศึกษากศน. ของประชาชนในชุมชน จัดทำและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานการดำเนินงานต่อหน่วยงานต้นสังกัด จัดทำสรุปผลการดำเนินงานของศรช. รายงานต่อ ศบอ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ, ดำเนินงานธุรการในศรช. (เช่น การรับสมัครนักศึกษา แนะนำให้คำปรึกษา ตรวจสอบหลักฐานการขึ้นทะเบียนนักศึกษา การลงทะเบียนเรียน จัดทำแผนการเรียนการสอน การสอนเสริมและการพบกลุ่ม), สรุปและรายงานผลการปฏิบัติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ให้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน (โดยประสานเครือข่ายชุมชนให้มีส่วนร่วม ได้แก่ ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาบันศาสนา/สถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น)


ภารกิจของครู ศรช.ในด้านการส่งเสริมสนับสนุน มีดังนี้ คือ การประชาสัมพันธ์(จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ กระดานข่าว ป้ายนิเทศ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ใช้สื่อบุคคล เช่น นักศึกษา ประชาชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานเครือข่าย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น), การแนะแนว(การให้คำปรึกษาและแนะแนวก่อนเรียน – ระหว่างเรียน และหลังจบการศึกษา),การกระจายและการหมุนเวียนสื่อ, การปฏิบัติงานธุรการ, การนิเทศการติดตามผลและรายงานผล

โดยสรุปดังที่กล่าวเล่ามานี้ ศูนย์การเรียนชุมชนที่มีอยู่ทุกตำบล ล้วนเป็นผลการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างกศน.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งนั้น โดยการสนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าไปรับบริการ และร่วมบริหารจัดการควบคุมดูแลสนับสนุน ให้คุณครูศรช.ทั้งหลายซึ่งล้วนเป็นลูกหลานของพวกเราทั้งนั้น ที่กศน.ร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคัดเลือกมา หวังว่าให้ดำเนินงานเป็นไปตามบทบาทภารกิจที่กำหนด ซึ่งบทบาทภารกิจมีมากมาย โดยให้ประจำอยู่ที่ศรช.สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นผู้ให้คำแนะนำให้คำปรึกษาและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องได้ตลอดเวลา ช่วยยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนในชุมชน จะเกิดมรรคเกิดอย่างเต็มที่หรือไม่อยู่ที่ท่านทั้งหลายเด้อพี่น้อง.......อยากให้ลองไปสัมผัสและติชมดูบ้าง.......ทางผู้บริหารกศน.จังหวัดและผู้บริหารกศน.อำเภอทุกคนพร้อมน้อมรับจะปรับปรุงแก้ไข ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรศัพท์ไปก็ได้ โทรศัพท์สายตรงผอ.กศน.จังหวัด คือ 0-9840-8843 โทรศัพท์ศูนย์กศน.เลย โทร.0-4281-2657 ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น: