วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เรียนรู้คุณธรรมจากนิทานไทย

เรียนรู้คุณธรรมจากนิทานไทย
โดย บุญโชค พลดาหาญ


นิทาน คือเรื่องเล่าขานกันมา เป็นเรื่องปรำปะรา สรรหามาเล่าเพื่อความสนุกสนาน การให้อุทาหรณ์สอนใจ เด็กฟังได้ผู้ใหญ่ฟังดี ฟังแล้วมีความสุขทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง สามารถสอดแทรกสิ่งต่าง ๆ ได้ในเวลาเล่านิทาน ปัจจุบันคนลืมความสำคัญนี้ไป เพราะการบันเทิงอื่นๆได้เข้ามาแทนที่

กระทรวงศึกษาธิการจึงมีโครงการนิทานส่งเสริมคุณธรรม เพื่อนำมาจัดพิมพ์ใหม่สำหรับให้เด็กเยาวชนและคนทั่วไปได้อ่านนำไปเล่าต่อ ก่อให้เกิดคุณธรรมหลัก ๘ ประการ ได้แก่ วินัย มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด สุภาพ สะอาด และสามัคคี และเน้นหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ประการ คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง ให้นักเรียนนักศึกษาประชาชนเข้าใจคุณธรรมผ่านนิทาน ๑๑ เรื่อง โดยย่อ ดังนี้

๑. คติธรรม การรักษาวินัย จากนิทานเรื่อง จันทโครพ


จันทโครพเจ้าชายเมืองพาราณสีออกแสวงหาพระอาจารย์และได้เรียนรู้จนสำเร็จวิชาอันแกร่งกล้า จึงเดินทางกลับเมือง ในระหว่างทางพระองค์ได้เปิดผอบที่พระอาจารย์มอบให้นำกลับเมืองและกำชับให้เปิดเมื่อถึงเมืองแล้ว เมื่อผอบเปิดจันทโครพได้พบกับนางโมราสาวงาม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้พระองค์ต้องตายเพราะมือโจรในที่สุด คติเตือนใจ ควรรู้จักยับยั้งความอยากรู้อยากเห็น มีวินัยต่อตนเอง ช่วยไม่ให้เกิดภัยพิบัติ


๒. คติธรรม ความมีน้ำใจจากนิทานเรื่อง ชาวนากับงูเห่า


ในเช้าของฤดูหนาววันหนึ่ง ชาวนาผู้หนึ่งเดินออกจากบ้านไปทุ่งนา ระหว่างทางเห็นงูเห่าตัวหนึ่งนอนขดตัวอยู่ เกิดความรู้สึกสงสาร จึงเก็บงูตัวนั้นมากอดไว้ในอ้อมแขน เมื่องูรู้สึกอบอุ่นก็เคลื่อนไหวและฉกกัดชาวนาด้วยเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ชาวนาจึงสิ้นใจตาย คติเตือนใจ การมีน้ำใจเป็นสิ่งดีงาม หากทำคุณกับคนชั่วมีแต่จะได้รับความเดือดร้อน


๓. คติธรรม ความซื่อสัตย์ จากนิทานเรื่อง คนตัดไม้กับเทพารักษ์


คนตัดไม้คนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ริมลำธารเพราะทำขวานของตนเองตกลงไปในน้ำ เทพารักษ์สงสารจึงปรากฏกายช่วยเหลือโดยครั้งแรกงมขวานทองคำ ครั้งที่สองงมขวานเงินขึ้นมาให้ คนตัดไม้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์จึงปฏิเสธว่าไม่ใช่ขวานของตน จนเทพารักษ์งมขวานเหล็กขึ้นมา เขาจึงยอมรับ เทพารักษ์ตอบแทนความซื่อสัตย์ด้วยการมอบขวานทองคำและเงินให้ด้วย เพื่อนบ้านคนหนึ่งทราบเรื่อง เกิดความละโมบจึงไปที่ลำธารและทำขวานหล่น แต่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ ทำให้เขาไม่ได้ขวานคืนแม้กระทั่งของตนเอง คติเตือนใจ ความซื่อสัตย์ส่งผลดีต่อบุคคลนั้นให้เป็นที่เชื่อถือ และจงพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ไม่โลภมาก


๔. คติธรรม ความขยันและอดทน จากนิทานเรื่อง โสนน้อยเรือนงาม


โสนน้อยเรือนงามเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์นครโรมวิสัย นางต้องออกจากเมืองด้วยโหรหลวงทำนายว่าจะมีเคราะห์ พระอินทร์สงสารจึงแปลงร่างเป็นชีปะขาวมามอบยา
คืนชีพให้โสนน้อยนำติดตัวไปด้วย โสนน้อยเดินทางมาในป่าได้ช่วยเหลือนางกุลาซึ่งเป็นหญิงอัปลักษณ์และใจร้ายให้ฟื้นคืนชีพ นางกุลาได้ขอเป็นทาสและติดตามไปด้วย ต่อมาโสนน้อยได้มีโอกาสช่วยเจ้าชายวิจิตรจินดาให้ฟื้นคืนชีพเพราะถูกงูพิษกัด นางกุลาได้สวมรอยเป็นพระนางและแอบอ้างแทน เจ้าชายวิจิตรจินดาไม่เชื่อและใช้วิธีการต่างๆ ทดสอบหาผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ จนในที่สุด พระองค์ก็ได้พบความจริง และเสกสมรสกับพระราชธิดาโสนน้อยมีความสุขสืบมา คติเตือนใจ ความขยันอดทนมีน้ำใจ เป็นเกราะคุ้มภัยตนเอง


๕. คติธรรม การประหยัดจากนิทานเรื่อง คนขี้เหนียวกับทองคำ


เศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนขี้เหนียว เขามักนำทรัพย์สมบัติฝังดินไว้รอบบ้าน ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยความกลัวคนขโมย ต่อมาเขาจึงได้นำทรัพย์สมบัติไปขายแล้วซื้อเป็นทองคำได้หนึ่งแท่ง นำมาฝังไว้หลังบ้าน เฝ้าดูทุกวัน คนใช้เห็นจึงแอบดู และขโมยไป เศรษฐีต้องเสียใจเพราะเสียทรัพย์ที่ตนเก็บเอาไว้ คติเตือนใจ การมีทรัพย์และออมทรัพย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้จักประมาณการใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ด้วย


๖. คติธรรม ความสุภาพจากนิทานเรื่อง พิกุลทอง


หญิงหม้ายคนหนึ่งมีลูกสาว ๒ คน คนโตชื่อ มะลิ คนที่สองชื่อพิกุล หญิงหม้ายนั้น รักมะลิมาก เพราะมีรูปร่างหน้าตาและนิสัยเหมือนนาง พิกุลเป็นหญิงสาวที่มีหน้าตาสะสวย กริยามารยาทและน้ำใจงาม พิกุลต้องทำงานหนักเนื่องจากความลำเอียงของมารดา แต่ด้วยความมีน้ำใจต่อคนอื่น ทำให้พิกุลได้รับพรจากรุกขเทวดา ให้มีดอกพิกุลทองร่วงออกมาจากปากทุกครั้งที่พูด หญิงหม้ายมีความละโมบได้บีบคั้นให้พิกุลทองพูดเพื่อเอาทองคำ และให้มะลิไปขอพรรุกขเทวดา แต่มะลิมีนิสัยหยาบช้าจึงได้รับผลตรงกันข้ามกับพิกุล พิกุลถูกมารดาทำร้ายต้องหนีออกจากบ้าน ได้พบกับเจ้าชายรูปงามและครองคู่กันต่อมาอย่างมีความสุข คติเตือนใจ ความสุภาพทั้งกายวาจาใจ เป็นเครื่องผูกมิตรต่อผู้อื่น


๗. คติธรรม ความสะอาดจากนิทานเรื่อง นางอุทัยเทวี


อุทัยเทวีเป็นธิดาของรุกขเทวดาและนางนาค นางต้องพลัดมาอยู่บนโลกมนุษย์ จึงปกป้องตนเองด้วยการอาศัยอยู่ในร่างของคางคก ต่อมาตายายได้มาพบ นางจึงขอไปอาศัยอยู่ด้วย อุทัยเทวีช่วยเหลือตอบแทนตายายที่เลี้ยงดูตนเอง โดยออกมาจากร่างคางคกและทำงานต่างๆ ในบ้าน อุทัยเทวีเติบโตเป็นสาวสวยงาม เจ้าชายสุทราชกุมาร ได้พบกับนางก็หลงรัก และให้พระราชบิดามาสู่ขอ ตายายได้ขอให้สร้างสะพานทองจากพระราชวังมาถึงบ้าน ทำให้พระราชากริ้วมาก และตรัสให้ตายายสร้างปราสาทหลังใหญ่ให้เสร็จภายใน ๗ วัน เช่นกัน อุทัยเทวีได้เนรมิตปราสาทและเจ้าชายได้ตั้งจิตอธิษฐานขอสะพานทองจากเทวดา ในที่สุดทุกอย่างก็จบลงด้วยความสุข คติเตือนใจ การประพฤติตนเป็นคนขยัน รู้จักทำงานรักษาความสะอาดบ้านเรือนและจิตใจ รวมทั้งกตัญญูส่งผลให้ได้รับผลบุญที่ดี


๘. คติธรรม ความสามัคคีจากนิทานเรื่อง นกกระจาบ


นกกระจาบฝูงหนึ่งถูกนายพรานใช้ตาข่ายจับไป หัวหน้านกกระจาบและนกที่เหลือได้หาวิธีเพื่อให้รอดพ้นจากตาข่าย เมื่อฝูงนกถูกนายพรานดักจับ ได้ใช้กลวิธีความสามัคคี ทำให้รอดพ้นจากตาข่ายนายพรานได้อย่างปลอดภัย คติเตือนใจ คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้


๙. คติธรรม ความพอประมาณจากนิทานเรื่อง หมากับเงา


หมาหิวโซตัวหนึ่งแย่งก้อนเนื้อชิ้นหนึ่งมาจากหมาซึ่งตัวเล็กกว่า มันคาบก้อนเนื้อนั้นมาถึงลำธารแห่งหนึ่ง ขณะที่มันเดินข้ามสะพานมองลงไปในน้ำก็เห็นเงาของหมาตัวใหญ่ตัวหนึ่งคาบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ไว้ในปาก จึงเกิดความโลภคายก้อนเนื้อและกระโดดลงไปในน้ำหมายจะแย่งเนื้อจากหมาที่เห็นในน้ำซึ่งใหญ่กว่า ผลที่สุดหมาตัวนี้ก็ต้องอดโซต่อไป คติเตือนใจ จงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ รู้จักพอประมาณ โลภมาก ลาภหาย


๑o.คติธรรม ความมีเหตุผลจากนิทานเรื่องสังข์ทอง


รจนาเป็นธิดาองค์สุดท้องในจำนวนพระธิดาเจ็ดองค์ของท้าวสามล พระธิดาหกองค์ได้เลือกคู่ครองที่เป็นเจ้าชายเหมาะสมกับแต่ละคนแล้ว แต่รจนากลับมองเห็นรูปทองภายในของเจ้าเงาะรูปชั่วตัวดำ และใช้เหตุผลในการเลือกเจ้าเงาะ ท้าวสามลกริ้วมากจึงขับไล่ให้นางรจนาไปอยู่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ พระอินทร์ได้แปลงกายมาประลองตีคลีเมืองกับท้าวสามล เขยทั้งหกไม่สามารถสู้รบกับพระอินทร์ เจ้าเงาะต้องถูกเกณฑ์ไปและมีชัยชนะ ทุกคนจึงได้ทราบความจริงว่า เงาะรูปชั่วตัวดำ คือ เจ้าชายสังข์ทองคติเตือนใจ อย่ามองผู้อื่นหรือตัดสินผู้อื่นแต่เพียงภายนอก จงมีเหตุผล


๑๑.คติธรรม มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง จากนิทานเรื่อง มดง่ามกับจักจั่น


ในฤดูฝน จักจั่นผอมโซเพราะเกียจคร้านตัวหนึ่ง มาขออาหารมดงามซึ่งขยันขันแข็งเก็บสะสมอาหารที่หาไว้ในช่วงฤดูร้อน จักจั่นตัวนั้น นอกจากไม่ได้อาหารจากมดง่ามแล้วยังถูกตำหนิว่ากล่าวให้อับอายอีกด้วย คติเตือนใจ ความขยันหมั่นเพียร ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต


นิทานส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าขานกันมาหลายชั่วคนจนกลายเป็นตำนานสอนใจ ผู้ใหญ่จึงมักเล่านิทานเสนุกเพื่ออบรมสั่งสอนเด็ก ใครมีนิทานดี ๆ เอามาเล่าในเว็บนี้ได้ เพื่อให้ผู้สนใจเอาไปเล่าต่อ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่น้อย ...ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น: