วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ข้อคิดภาวะผู้นำของพระธรรมปิฎก

ข้อคิดภาวะผู้นำของพระธรรมปิฎก
โดย บุญโชค พลดาหาญ

จากหนังสือ “ภาวะผู้นำ” ของพระธรรมปิฎก ได้ข้อคิดพอสรุปได้ว่า ผู้นำมีความสำคัญต่อความอยู่รอด สวัสดิภาพและสันติสุขของสังคมและประเทศชาติทั้งหมด ผู้นำคือบุคคลที่จะมาประสานช่วยให้คนทั้งหลายรวมกัน อยู่รวมกัน หรือทำการร่วมกัน ให้พากันไปด้วยดีสู่จุดหมายที่ดีงาม โดยภาวะผู้นำก็คือคุณสมบัติ เช่น สติปัญญา ความดีงาม ความรู้ความสามารถของบุคคลที่ชักนำให้คนทั้งหลายมาประสานกันและพากันไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ซึ่งผู้นำจะต้องมีความสามารถในการที่จะไปเกี่ยวข้องหรือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นทุกอย่างให้ถูกต้องและได้ผลดี องค์ประกอบเหล่านั้น คือ

1. ตัวผู้นำ จะต้องมีคุณสมบัติภายในของตนเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแกนกลางไว้

2. ผู้ตาม โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับผู้ตาม หรือ อาจเรียกว่า ผู้ร่วมไปด้วย

3. จุดหมาย โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับจุดหมาย เช่น จะต้องมีความชัดเจน เข้าใจ ถ่องแท้ และแน่วแน่ในจุดหมาย

4. หลักการและวิธีการ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับหลักการและวิธีการที่จะทำให้สำเร็จผลบรรลุจุดหมาย

5. สิ่งที่จะทำ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสิ่งที่จะทำ

6. สถานการณ์ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่จะประสบซึ่งอยู่ภายนอก ว่าทำอย่างไรจะผ่านไปได้ด้วยดี ในท่ามกลางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่ประสบ เช่น ปัญหา เป็นต้น


ผู้นำสูงสุดนำเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ ลักษณะสำคัญของความเป็นผู้นำ


1. ความเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้นำเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์แก่หมู่ชน แก่ญาติมิตร เพื่อนร่วมชุมชน เพื่อร่วมชาติ เพื่อร่วมสังคม หรือแก่องค์กรนั้น ๆ

2. เป็นผู้พบมรรคา หรือค้นพบทางเพื่อไปสู่จุดหมายได้

3. เป็นผู้ที่ช่วยให้คนทั้งหลายได้ศึกษาเรียนรู้ หรือฝึกตนเองจนกระทั่งที่จะข้ามพ้นปัญหาไปถึงจุดหมายได้


ผู้นำมาประสานให้พากันไป


1. เริ่มด้วยตัวผู้นำจะต้องมีคุณความดี ความรู้ ความสามารถ อย่างเพียงพอ จนเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่าง ซึ่งทำให้เขาเกิดศรัทธา ความมั่นใจในตัวผู้นำ ที่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหานำพาพวกเขาไปถึงจุดหมายได้ ซึ่งทำให้พอใจ เต็มใจ และอยากจะร่วมไปด้วย

2. ผู้นำทำให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเขาเอง ว่าเขามีศักยภาพ มีทุนแห่งความสามารถที่จะเอามาปรับมาจัดเอง มาพัฒนาให้สามารถทำกิจการงานนี้ให้สำเร็จ

3. ช่วยให้เขาประสานกันเอง คือชักนำให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ทั้งร่วมมือร่วมใจกันสู่จุดหมายอันเดียวกัน

4. ประสานให้ทุกคนมีความมั่นใจในงานหรือสิ่งที่จะทำ ให้เกิดความมั่นใจในคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่จะทำหรืองานนั้น เมื่อเขาเกิดความรักงานก็จะตั้งใจทำงาน

5. ประสานให้เกิดกำลังใจเข้มแข็งที่จะสู้งานไม่ท้อถอย

6. ส่งเสริมสนับสนุนให้เขาพัฒนาตัวเองให้มีความเจริญงอกงามขึ้น บรรลุประโยชน์สุขที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น

7. การเป็นผู้นำ หมายถึงการมีสายตาที่มองทั้งงานและมองทั้งที่คนควบคู่กัน


ผู้นำประสานคนภายในดุลยภาพแห่งธรรม


พรหมวิหาร เป็นธรรมสำหรับทุกคนที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในฐานะเป็นพรหม คือ เป็นผู้มีศักยภาพในการที่จะสร้างสรรค์และธำรงรักษาสังคมไว้ คือ

1.ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา คือ ความเป็นมิตรไมตรี ความมีน้ำ ใจปรารถนาดี ต้องการให้เขามีความสุข

2. ในสถานการณ์ที่เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็มีกรุณา คือ ความพลอยรู้สึกไหวตามความทุกข์ความเดือดร้อนของเขา และต้องการให้เขาหลุดพ้นจากทุกข์นั้น

3. ในสถานการณ์ที่เขาขยับสูงขึ้นไปในทางที่ดีงาม ก็มีมุทิตา คือพลอยยินดีด้วย
ช่วยส่งเสริมสนับสนุน

4. ในสถานการณ์ที่เขาทำผิดหลัก ทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็อุเบกขา คือ รักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้าง รักษากฎเกณฑ์กติกา


ผู้นำที่ดีได้ทั้งคนได้ทั้งงานโดยไม่เสียหลักการ


ผู้นำจะต้องเอาทั้งคนและทั้งงาน หรือเอาทั้งคนและหลักการ อย่างมีขอบเขตมีความสมดุล ไม่มีอคติหรือความลำเอียงเพราะชอบ,ชัง,ขลาด,เขลา

ผู้นำสื่อสารให้ผู้โดยสารรู้เห็นทางสว่างตาสว่างใจไปด้วยกัน


1. พูดแจ่มแจ้ง

2. พูดจูงใจ

3. พูดเร้าใจ

4. พูดให้ร่าเริง


ผู้นำช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ


ช่วยให้คนพัฒนาความต้องการไปในทางที่ดีงาม ประณีต สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น เช่นอยากให้เพื่อนมนุษย์อยู่ดีมีสุข อยากให้สังคมร่มเย็น


ผู้นำรู้ทั้งเจ็ดด้านซึ่งทำให้พร้อมที่จะจัดการ (สัปปุริสธรรม 7)


1. รู้หลักการ 2. รู้จุดหมาย

3. รู้ตน 4. รู้ประมาณ

5. รู้กาล 6. รู้ชุมชน

7. รู้บุคคล


ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มองกว้าง คิดไกล และใฝ่สูง


1. ตัวเองต้องดี เป็นแบบอย่างได้

2. ต้องมีกัลยาณมิตร ต้องหาที่ปรึกษาและผู้ร่วมงานที่ดีมีความรู้ความสามารถ และ แสวงหาปัญญาเพิ่มเติมอยู่เสมอ

3. ต้องเป็นคนไม่ประมาท

4. ต้องเป็นคนเข้มแข็ง แม้มีอุปสรรคมีภัยอันตรายมีปัญหาก็ไม่ย่อท้อ วางตัวเป็นหลักได้ ไม่หวั่นไหว

5. ต้องทำได้ และช่วยให้คนอื่นทำได้ ในสิ่งที่ต้องการจะทำ

6. สายตากว้างไกล มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง

ไม่มีความคิดเห็น: