วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

เศรษฐกิจพอเพียงทางสายกลางสร้างครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งชาติมั่นคง

เศรษฐกิจพอเพียงทางสายกลางสร้างครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็งชาติมั่นคง

โดย บุญโชค พลดาหาญ

"เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระองค์ทรงเปรื่องปราชญ์และมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ได้ทรงพระราชดำรัสไว้ให้พสกนิกรถือปฏิบัติมากว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ความว่า

“.....ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว.....การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันการผิดพลาดล้มเหลว...”


และพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517 ความว่า “.....ให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวด....." เมื่อปี 2540 ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าเกิดปัญหาในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผ่านมายังไม่มีความสมดุล ไม่สอดคล้องกับพระราชดำรัส จึงได้จัดให้มีการประมวลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศ ได้สรุปเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขอพระบรมราชานุญาตใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องแนวทางในการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และระดับรัฐ ทั้งการพัฒนาและบริหารประเทศชาติให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำ ความพอเพียง หมายถึง คุณลักษณะพร้อมๆกัน 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หากขาดองค์ประกอบใดก็ไม่เป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยหรือมากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ยืนได้ด้วยลำแข้งของตน เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และไกล เงื่อนไขการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน โดยเงื่อนไขความรู้นั้นประกอบด้วย การรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง คือ ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบ ที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ การมีสติ ส่วนเงื่อนไขคุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างนั้น คือ ให้มีการตระหนักในความซื่อสัตย์สุจริตขยันอดทน ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภและไม่ตระหนี่ ให้มีการแบ่งปัน เศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มที่ตัวเอง พึ่งพาตนเองให้ได้ในเบื้องต้นก่อน ต่อไปก็คือสร้างความเจริญให้กับชีวิต สร้างความเจริญให้กับครอบครัว และไปช่วยเหลือสังคมชุมชนต่อไป การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา ใช้หลักการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยความพอประมาณ และความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียร และความอดทน สติ และปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความสามัคคี เศรษฐกิจพอเพียงความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่ โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ในขณะที่แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการพัฒนาเกษตรอย่างเป็นขั้นตอน เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐาน กับ แบบก้าวหน้า ดังนี้ ความพอเพียงในระดับบุคคล และครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝน และประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั้งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค จะมีข้อสมมุติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว จากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่ง และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน ราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัว หรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้ว ก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวม บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามกำลังและความสามารถของตน ซึ่งจะสามารถทำให้ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจ สร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น การสร้างเครือข่ายในลักษณะเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง กลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด โดยสรุปในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ ได้ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแก่พสกนิกรในแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และระดับรัฐ ทั้งการพัฒนาประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง การพึ่งตนเอง มีสติ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ การมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ หากได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังก่อนหน้านี้ ปัญหาเรื่องหนี้สิน เศรษฐกิจ ความยากจน และปัญหาสังคม คงจะไม่ทับถมมากล้นดังเช่นทุกวันนี้ ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องน้อมนำรับมาใส่เกล้าฯ เอาไปปฏิบัติอย่างจริงจังเสียที อย่าให้พ่อหลวงของเรานี้ไม่สบายพระราชหฤทัย เพราะพสกนิกรยากไร้ถลำไปกับกระแสทุนนิยม ประเทศชาติและทุกคนจะล่มจมเสียหายมากกว่านี้ รักชาติรักพ่อต้องพอเพียงเป็นสรณะ ใครไม่นำพาไปปฏิบัติน่าจะจัดว่าไม่จงรักภักดีไม่รักชาติไม่รักดี เพื่อที่จะทำให้ชีวิต/เศรษฐกิจ/สังคม/สิ่งแวดล้อม เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน สืบไป พวกเราชาวไทยทุกคนขอถวายพระพรให้พ่อหลวงของเราจงสุขเกษมสำราญ พระชนมายุยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ไม่มีความคิดเห็น: