วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

บ้านวัดโรงเรียนเปลี่ยนไป

บ้านวัดโรงเรียนเปลี่ยนไป
โดย บุญโชค พลดาหาญ


“บวร” หรือ “บ้าน วัด โรงเรียน” อดีตเป็นเสมือนเสาหลักของสังคม ที่ผสมผสานเป็นสามก้อนเส้า เพื่อค้ำจุนสังคมเราให้อยู่รอดปลอดภัยมีความเข้มแข็งมีภูมิคุ้มกัน อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ พึ่งพาอาศัยกันและกันครอบครัวอบอุ่น เคารพผู้มีพระคุณผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้คนสรรค์สร้างสังคมมีความสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีมีความเอื้ออาทรและแบ่งปัน


“บ้าน”ถือเป็นสถาบันเสาหลักแรก ความหมายแยกเป็น 2 ส่วนล้วนสำคัญ คือระดับครอบครัวและชุมชน/หมู่บ้าน ระดับครอบครัวนั้นมีพ่อแม่และปู่ย่าตายายบุตรหลาน ในอดีตอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนาครอบครัวใหญ่ แม่นั้นได้เลี้ยงลูกด้วยนมตน และเป็นคนเลี้ยงลูกด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ให้เวลากับลูกๆเป็นสำคัญ คอยอบรมบ่มนิสัยให้บุตรหลานเป็นคนดี ดูแลบุพการีญาติพี่น้องด้วยความผูกพันเสมอต้นเสมอปลาย ครอบครัวทั้งหลายล้วนอบอุ่นจุนเจือกัน ส่วนในระดับชุมชน/หมู่บ้านนั้น มีผู้ใหญ่บ้านกำนันผู้นำชุมชนทั้งโดยธรรมชาติและเป็นทางการเป็นผู้นำ ต่างอยู่ในศีลธรรมอันดีเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา คอยดูแลช่วยแก้ปัญหาเป็นที่ปรึกษาในสังคม เป็นผู้นำทางสังคมสู่ความอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า


“วัดศาสนสถาน”ถือเป็นสถาบันเสาหลักที่สอง เจ้าอาวาสผู้นำศาสนาล้วนเป็นที่ยกย่องนับถือของสังคม เพราะได้สะสมบารมีคุณความดีอยู่ในพระวินัยที่เคร่งครัด คอยจัดการดูแลผู้ดำรงศาสนาในปกครองให้อยู่ในพระวินัยไม่นอกรีตนอกทาง เป็นผู้นำทางศาสนพิธีทุกอย่างที่ถูกต้องดีงาม คอยป้องปราบเตือนสติให้หลักธรรมตามหลักศาสนา เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวประชา ในอดีตอาศัยวัดศาสนาขัดเกลาจิตใจ โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนา วิถีชีวิตผูกติดมากับวัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาฤกษ์ยามต่างๆ การตั้งชื่อการปฏิบัติศาสนพิธี การทำบุญตามประเพณีต่าง ๆ แม้แต่มีปัญหาที่ถือว่าสำคัญที่ตกลงกันไม่ได้แก้ไม่ได้ ก็อาศัยพระคุณเจ้าช่วยปัดเป่าชี้แนะ โรงเรียนแต่เก่าก่อนส่วนใหญ่อยู่ในวัด พระช่วยจัดอบรมศีลธรรมให้ไม่ได้ขาด จะมีวัดคู่หมู่บ้านทุกแห่งไป ชายส่วนใหญ่ได้บวชในพุทธศาสนา ก่อนที่จะแต่งงานใช้ชีวิตในสังคม เพื่ออบรมด้านคุณธรรมให้ถ้วนถี่ จะได้ใช้ชีวิตนี้อย่างมีสติไม่ประมาท ตั้งสติก่อนสตาร์ทชีวิตคู่ มุ่งสู่การสร้างครอบครัวใหม่ที่สดใสสมบูรณ์มั่นคง


“โรงเรียนหรือสถานศึกษา” ถือเป็นสถาบันเสาหลักที่สาม ได้ค้ำจุนหล่อหลอมสังคม อบรมสั่งสอนสรรพวิชาแก่กุลบุตรกุลธิดาทั้งหลาย ให้อ่านออกเขียนได้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา พัฒนาให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายสติปัญญาอารมณ์สังคมมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้รอบด้านมีคุณธรรมมีจริยธรรมในการดำเนินชีวิต อยู่กับญาติมิตรอยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุข


ทุกวันนี้เสาหลักทั้งสามของสังคม ถูกกระแสทุนนิยมวัตถุนิยมโหมกระหน่ำ ทำเอาโยกคลอนเปลี่ยนไป เป็นที่พึ่งแทบไม่ได้ดังเก่าก่อน ครอบครัวเคยอบอุ่นช่วยคลายร้อน ตอนนี้ต่างแยกกันอยู่มุ่งสู่การหาเงินซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ปล่อยให้ลูกอยู่กับตายายที่แก่เฒ่า บ้างเอาลูกไปไว้ในโรงเรียนกินนอน สะท้อนให้เห็นครอบครัวที่แตกสลาย พ่อแม่ปู่ย่าตายายบุตรหลานต่างแยกกันอยู่ตามลำพัง ผู้นำหมู่บ้านทั้งหลายก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน ต้องลงทุนลงรอนหาเสียงแย่งกันมาเป็นใหญ่ ประเภทแพ้ไม่ได้ทำทุกอย่างขอให้ชนะการเลือกตั้ง สร้างความแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า เมื่อเข้ามาเป็นผู้นำได้แล้ว ก็ไม่แคล้วมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ความปองดองในสังคมมีน้อย วัดที่คอยอบรมด้านศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในอดีต ก็มีแต่ขูดรีดให้ทำบุญไม่เว้นแต่ละวัน อ้างจะสร้างนั่นสร้างนี่จิปาถะ คนเห็นพระเห็นชีไม่อยากจะเข้าใกล้ เพราะกลัวถูกรีดไถให้ทำบุญ พระเจ้าคุณพระเล็กพระใหญ่หลายรูปทำให้เสียหาย ใช้ชีวิตอย่างฆราวาสขาดศีลขาดธรรม ทำตัวเป็นนักใบ้หวยทำมนต์ขลัง สร้างวัตถุมงคลรุ่นต่าง ๆ ออกจำหน่าย รายได้นำไปปรนเปรอตัวเองสีกาและให้ญาติพี่น้องทั้งหลาย บ้างให้ความสำคัญแข่งขันสร้างโบสถ์สร้างศาลาถาวรวัตถุให้ยิ่งใหญ่ เพื่ออวดอ้างในบารมีในศักดิ์ศรีของตน การจะสอนคนด้านศีลธรรมคุณธรรมตามหลักศาสนาอย่างแท้จริงลดน้อยลง ด้านโรงเรียนสถานศึกษาก็เปลี่ยนไป ครูส่วนใหญ่มีหนี้สินมากมายสารพัด การยืนหยัดทุ่มเทเวลาให้กับนักเรียนมีน้อยลง มุ่งประสงค์แต่อยากจะก้าวหน้าทางอาชีพและสร้างฐานะ จัดซื้อสินค้าด้วยเงินผ่อนจิปาถะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์รถจักรยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าอาคารบ้านเรือนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบต่างๆ ทั้งนี้เพราะมีแหล่งให้กู้ให้ผ่อนมากมาย และหลงใหลไปตามกระแสวัตถุนิยม บ้างก็ถูกทับถมให้เป็นหนี้ตั้งแต่ที่ใช้เป็นทุนเพื่อการศึกษา การเข้ามาสู่ระบบราชการ การเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งเลื่อนวิทยฐานะ ปัจจุบันครูใช้เวลากับงานธุรการและด้านอื่นๆ มากกว่าการสอนอย่างจริงจัง ทั้งการสอนก็มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยกระบวนการกลุ่มและยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งวัฒนธรรมด้านการเรียนของคนไทยนั้นอยากให้ครูบอกความรู้ เอาไปเอามาครูก็ปล่อยปละละเลยผู้เรียน มัวแต่ปวดเศียรเวียนเกล้าเรื่องหนี้สินและเรื่องเลื่อนตำแหน่งเลื่อนวิทยฐานะของตน ครูไม่ค่อยสนใจผู้เรียนผู้เรียนก็ไม่สนใจครู การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองก็มีน้อยไม่เพียงพอไม่ครบถ้วน เรียนจบหลักสูตรใดก็ล้วนแต่ไม่มีคุณภาพสร้างงานไม่ได้ทำงานไม่ได้ ต้องไปเรียนรู้กันใหม่ฝึกงานกันใหม่ในสถานประกอบการในสถานที่ทำงาน การศึกษาที่ได้ไม่เพียงพอไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ยิ่งได้รับการศึกษามามากยิ่งทำงานเองไม่ค่อยได้ อยากจะได้เงินเดือนมากๆ อยากเป็น้็นผู้สั่งมากกว่าลงมือทำ ทำให้มีคนว่างงานอยู่มากมาย เป็นแรงงานตายด้านไม่ทำงาน แต่เผาผลาญใช้งบประมาณของชาติของพ่อแม่อย่างมากมาย


การที่จะให้ สถาบันทั้งสามเป็นเสาหลักของสังคมที่มั่นคงเหมือนเมื่อก่อน ทุกสถาบันนั้นต้องถอนตัวจากระบบทุนนิยมวัตถุนิยม หันมาชื่นชมความเป็นไทย ยึดในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง คือยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นำมาปรับใช้ในทุกเรื่องทุกระดับอย่างจริงจัง คือให้คำนึงถึงทั้งความพอประมาณ การมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือการใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรม เพื่อนำความสุขความอบอุ่นความอยู่ดีกินดีมีความมั่นคงและยั่งยืน กลับคืนมาสู่พี่น้องผองไทยกันถ้วนหน้า นี่คือสุดยอดความปรารถนาของทุกคน...ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น: